เงาะลำไย ๒

Dimocarpus fumatus (Blume) Leenh. subsp. indochinensis Leenh.

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น กิ่งเป็นร่อง ๕ ร่อง ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ ใบย่อย ๔-๑๐ ใบ รูปรีถึงรูปไข่กลับ ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามยอดหรือตามซอกใบ สีขาวถึงสีเหลือง กลิ่นหอม ผลคล้ายผลแห้งแตก รูปค่อนข้างกลม สีน้ำตาลอ่อน มักแตกกลางพู ผิวเป็นปุ่มรูปพีระมิด ปลายมีหนามแหลมสั้น มี ๑ เมล็ด สีน้ำตาลดำเป็นมัน ขั้วเมล็ดใหญ่ รูปค่อนข้างกลม เมล็ดมีเยื่อหุ้มเป็นเนื้อนุ่มสีขาว

เงาะลำไยชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๕ ม. กิ่งเป็นร่อง ๕ ร่อง เปลือกสีน้ำตาลอมเทา เมื่อแห้งสีน้ำตาลเข้ม มีขนประปรายถึงเกลี้ยง ยอดอ่อนมีขนยาวสีทอง

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ ก้านใบยาว ๗-๑๒ ซม. ด้านบนเรียบหรือเป็นร่องเล็กน้อยใบย่อย ๔-๑๐ ใบ เรียงสลับเยื้องกันเล็กน้อย รูปรีถึงรูปไข่กลับ กว้าง ๔-๑๐ ซม. ยาว ๘-๒๔ ซม. ปลายสอบแคบถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่มถึงมนกว้าง มักเบี้ยว ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบคล้ายแผ่นหนังแต่บาง ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นทั่วไป มีต่อมอยู่ในซอกระหว่างเส้นแขนงใบกับเส้นกลางใบและตามซอกของเส้นใบย่อยใกล้ขอบใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๑๕-๑๗ เส้น เส้นกลางใบนูนทางด้านบน อาจพบบ้างที่เป็นร่องก้านใบย่อยยาว ๐.๑-๑.๕ ซม. ด้านบนเป็นร่อง

 ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามยอดหรือตามซอกใบยาว ๒๔-๔๕ ซม. มีขนประปรายถึงหนาแน่น ก้านดอกยาว ๒-๔ มม. ใบประดับรูปลิ่มแคบ ยาวได้ถึง ๓ มม.ดอกสีขาวถึงสีเหลือง กลิ่นหอม สมมาตรตามรัศมี เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. กลีบเลี้ยงยาว ๒-๓ มม. กว้าง ๑.๕-๒.๕ มม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕-๖ แฉก รูปคล้ายสามเหลี่ยม ด้านในมีขนสั้นหนานุ่ม ไม่มีกลีบดอกหรือมี ๑ กลีบ ซึ่งลดรูปลงมาก จานฐานดอกรูปวงแหวน มีขนยาวหนาแน่น ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๖-๑๐ เกสร ก้านชูอับเรณูยาว ๑.๕-๒.๕ มม. มีขนหนาแน่น อับเรณูเกลี้ยง ยาว ๐.๖-๐.๘ มม.ดอกเพศเมียไม่มีก้านรังไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนหนาแน่น ผิวเป็นปุ่ม มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ดยอดเกสรเพศเมียเป็น ๒ พู

 ผลคล้ายผลแห้งแตก รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๔ ซม. สีน้ำตาลอ่อน มักแตกกลางพูผลเจริญเพียง ๑ พู ผิวเป็นปุ่มรูปพีระมิด ปลายมีหนามแหลมสั้น เปลือกผลหนาประมาณ ๒ มม. มี ๑ เมล็ดสีน้ำตาลเป็นมัน รูปค่อนข้างกลม ขั้วเมล็ดใหญ่ เมล็ดมีเยื่อหุ้มเป็นเนื้อนุ่มสีขาว

 เงาะลำไยชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก พบขึ้นตามป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้ง ส่วนมากพบบริเวณที่สูงจากระดับทะเลประมาณ ๑๐๐ ม. พบบ้างที่ระดับความสูง ๑,๒๐๐-๑,๓๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่จีน ลาว และตอนเหนือของเวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เงาะลำไย ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dimocarpus fumatus (Blume) Leenh. subsp. indochinensis Leenh.
ชื่อสกุล
Dimocarpus
คำระบุชนิด
fumatus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
- Leenhouts, Pieter Willem
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
subsp. indochinensis
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- Leenh.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von (1796-1862)
- Leenhouts, Pieter Willem (1926-2004)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา